วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2559

วันเทโวโรหณะ

วันเทโวโรหณะ


วันเทโวโรหนะ หมายถึง วันทำบุญตักบาตรในเทศกาลวันออกพรรษา มีประวัติเล่าว่า ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วได้เสด็จไปประกาศ   พระศาสนาในแคว้นต่าง ๆ ทั่วชมพูทวีป  ตลอดจนไปทรงเทศนาโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติทั้งหลายให้บรรลุมรรคผลตามสมควรแก่อุปนิสัยของแต่ละคน  แล้วพระองค์ได้ทรงรำลึกถึงพระนางสิริมหามายา  ซึ่งได้สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่พระองค์ประสูติได้ ๗ วัน  ทรงดำริที่จะสนองคุณพระพุทธมารดา   ดังนั้น  จึงได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฏกโปรดพระพุทธมารดาอยู่หนึ่งพรรษา   ครั้นวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ หรือหลังวันออกพรรษา ๑ วัน  พระองค์เจ้าจึงได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์   มาประทับที่เมืองสังกัสสะ  ประชาชนต่างพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทำบุญตักบาตรกันอย่างเนื่องแน่น  ด้วยเหตุนี้  พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑  เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากเทวโลกมาสู่เมืองมนุษย์  เพื่อโปรดสัตว์ ชาวบ้านทั่วไปเรียกวันนี้ว่า "วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก" หมายถึงเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงเปิดโอกาสให้โลกทั้ง 3 สามารถมองเห็นซึ่งกันและกันได้ ประกอบด้วย สวรรคโลก มนุษยโลก และนรกโลก เป็นวันแห่งอิสระ เสรีภาพของเหล่านางฟ้า เทพบุตร เทพธิดาในแดนสวรรค์ ตลอดจนเหล่าภูต ผี ปีศาจ เปรต และอสุรกายทุกรูปทุกนามในแดนนรกภูมิ สามารถจะไปไหนมาไหนก็ได้ เมื่อเหล่านางฟ้า เทพบุตร เทพธิดา ทั้งหลายได้ทราบข่าวอันเป็นมงคลยิ่งนี้ จึงได้รวมตัวกันประกอบพิธี "กวนข้าวมธุปายาส" เป็นข้าวที่กวนผสมกับน้ำผึ้ง เรียกว่า ข้าวทิพย์ พิธีกวนข้าวทิพย์นี้จะต้องกระทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เพื่อแจกจ่ายให้แก่เหล่านางฟ้า เทพบุตร เทพธิดา ได้นำไปใส่บาตรถวายสมเด็จพระสัมมาสัพพุทธเจ้า ขณะที่พระองค์กำลังเสด็จพระราชดำเนินลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เรียกวันสำคัญในวันออกพรรษาวันแรกนี้ว่า "วันตักบาตรเทโวโรหณะ" ชาวบ้านเรียกวันนี้ว่า "วันตักบาตรเทโว"พุทธศาสนิกชนต่างถือปฏิบัติด้วยการทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหาร ดอกบัว ข้าวต้มโยน ข้าวสาร อาหารแห้ง เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บิดา มารดา ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว ตลอดจนอุทิศส่วนกุศลนี้ให้แก่เจ้ากรรมนายเวร เพื่อให้ตนได้รับส่วนบุญกุศลอันจะก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว และทำสืบต่อมาเป็นประเพณีจนทุกวันนี้  และเรียกว่า "ตักบาตรเทโว"

ต่อมา เมื่อพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่มายังประเทศไทย พุทธศาสนิกชนได้อัญเชิญพระพุทธรูป ๑ องค์นำหน้าแถวพระสงฆ์ ส่วนประชาชนผู้มาใส่บาตรจะยืนหรือนั่ง ๒ แถว หันหน้าเข้าหากัน โดยเว้นระหว่างกลางไว้ให้พระสงฆ์เดิน สาหรับของที่นำมาใส่บาตรอาจแตกต่างกันบ้าง บางแห่งนิยมทำข้าวต้มลูกโยน ซึ่งทำจากข้าวเหนียว ห่อด้วยใบมะพร้าว ไว้หางยาว เพื่อสะดวกในการโยนใส่บาตร

การตักบาตรเทโวนี้ บางวัดทำในวันออกพรรษา คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ บางวัดก็ทำในวันรุ่งขึ้น คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ทั้งนี้ แล้วแต่ความตกลงร่วมใจทั้งทางวัดและทางบ้าน พิธีที่ทำนั้นทางวัดอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในบุษบก ซึ่งตั้ง อยู่บนล้อเลื่อนหรือคานหาม มีบาตรขนาดใหญ่ใบหนึ่งตั้งไว้หน้าพระพุทธรูป มีคน ลากล้อเลื่อนไปช้า ๆ นำหน้าพระสงฆ์ สามเณร ซึ่งถือบาตรเดินเรียงไปตามลำดับ พุทธศาสนิกชนต่างก็นำข้าว อาหารหวานคาว มาเรียงรายกันอยู่เป็นแถวตามแนวทางที่รถบุษบกเคลื่อนผ่าน คอยตักบาตร อาหารที่นิยมตักในวันนั้น นอกจากข้าวและอาหารคาวหวาน ธรรมดาแล้วก็จะมีข้าวต้มลูกโยนด้วย ซึ่งบางท่านสันนิษฐานว่าในครั้งนั้นผู้คนรอใส่บาตรกันแออัดมาก เข้าไม่ถึงพระ จึงใช้ข้าวก่อ หรือปั้นโยนลงบาตร ประเพณีการตักบาตรเทโวนี้ เนื่องมาจากการเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อมีเหตุการณ์อะไรปรากฏในตำนาน ก็จะปรารภเหตุนั้นๆ เพื่อบำเพ็ญบุญกุศลเช่นการถวายทาน รักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ทำทาน เป็นต้น ตักบาตรเทโวจึงเป็นการทำบุญอย่างมโหฬารของพุทธศาสนิกชน นับแต่นั้นมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น